วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ชากับดอกไม้

Art Of Tea Lovers
ศิลปะของคนรักชา

photo : aroi.com

                ความหอมของดอกไม้ถูกนำมาปรุงแต่งให้กับความหอมของชา กล่าวกันว่า มีฮ่องเต้พระองค์หนึ่งโปรดการเสวยชาที่มีความหอมของดอกบัวมาก ดังนั้นตอนเย็นของทุกวัน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการชงชาถวายฮ่องเต้ จะต้องพายเรือลงไปในสระที่ปลูกดอกบัวไว้และนำใบชาไปวางไว้ในดอกบัวก่อนที่ดอกบัวจะหุบ ตอนเช้าเมื่อดอกบัวบานเจ้าหน้าที่ก็จะพายเรือมาเก็บใบชาที่วางไว้ในดอกบัว และนำไปชงถวาย ส่วนน้ำที่ใช้ชงชาถวายจะต้องเป็นน้ำที่มาจากน้ำพุใต้ดิน หรือไม่ก็ต้องเป็นน้ำที่ไหลมาจากภูเขาตามที่ปรมาจารย์ชาลูอวี้บันทึกไว้

                ชาอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อดอกไม้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่อดีต คือชาดอกมะลิ (Jasmine Tea) ตามข้อเท็จจริงแล้วชากลิ่นมะลิในปัจจุบันไม่ใช่ชาดอกมะลิ แต่เป็นชากลิ่นมะลิโดยใช้กลิ่นสังเคราะห์นำไปผสมในใบชา ขั้นตอนการผลิตก็เช่นเดียวกับการผลิตชากลิ่นหอมของดอกไม้ต่างๆ

                ชากลิ่นดอกมะลิตามธรรมชาติมีจริงและมีวิธีการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก ใช้เวลาและแรงงานมาก เจ้าของไร่ชาที่จะผลิตชาหอมดอกมะลิจะต้องคัดพันธุ์ชาที่จะนำมาผลิตในอันดับแรก จากนั้นในแปลงใกล้กับแปลงชาก็จะต้องปลูกดอกไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิบ้านเรา ดอกไม้ชนิดนี้จะส่งกลิ่นหอมเมื่อดอกบานและจะบานเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น ก่อนที่ดอกจะบานจะมีเสียงดังเพาะเบาๆคล้ายกับเป็นการส่งสัญญานให้รู้ว่าฉันจะส่งกลิ่นแล้วนะ

photo : BlogGang.com

                ขั้นตอนต่อไป ชาวไร่จะเด็ดใบชาและดอกไม้ชนิดนี้ในตอนเย็นจะต้องกะเวลาให้ถูกและให้พอดีมิฉะนั้นจะเสียหายหมด เมื่อได้ใบชาและดอกไม้มาแล้ว คนงานก็จะต้องรีบนำมาเรียงซ้อนสลับกันเป็นชั้นๆในกล่องหรือหีบ เมื่อเรียงเสร็จก็จะปิดหีบให้สนิท กันไม่ให้กลิ่นระเหยออกมาข้างนอก หลังจากปิดหีบไม่กี่นาที ก็จะได้ยินเสียงดังเพาะเบาๆถี่ๆพอให้ได้ยิน เวลาที่ใช้ในการเรียงใบชาใส่หีบหรือกล่องจนถึงเปิดหีบและนำออกมาเพื่อผ่านขั้นตอนต่อไปจะใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที จึงต้องใช้คนที่ชำนาญเท่านั้นในการทำ ดังนั้นชาหอมดอกมะลิที่ขายตามห้างสรรพสินค้าหรือตามร้านทั่วไปในราคากระป๋องละร้อยกว่าบาท (ขนาด 100-200 กรัม) เชื่อได้ว่าเป็นชาหอมกลิ่นสังเคราะห์ของดอกมะลิ ชาหอมดอกกลิ่นมะลิที่เป็นของแท้ตามธรรมชาติ ปีหนึ่งผลิตได้ไม่เกิน 300-400 กิโลกรัม ราคาขายอยู่กิโลกรัมละหลายหมื่นบาท


                มีดอกไม้อีกจำนวนมากที่ปัจจุบันคนผลิตชานิยมนำมาใช้ในการผลิต ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการใช้กลิ่นสังเคราะห์ ประโยชน์เห็นได้ชัดคือโรงงานผลิตชากลิ่นต่างๆมากขึ้น ร้านจำหน่ายชามีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและลูกค้าก็ยินดีควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้นตามความประสงค์ทางการตลาดของเจ้าของสินค้า

วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

แหล่งปลูกชาของโลก - ออสเตรเลีย (Australia)

Art Of Tea Lovers
ศิลปะของคนรักชา
ออสเตรเลีย (Australia)


ออสเตรเลีย (Australia) ได้มีการปลูกชาครั้งแรกที่เมือง อินนิสเฟล (Innisfail) ในปี ค.ศ. 1884 แต่ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควรแต่เมื่อได้มีการพัฒนาพันธ์ให้ดีขึ้น ผลผลิตก็ได้รับการยอมรับ ปัจจุบันออสเตรเลียสามารถผลิตชาได้ 15% ของความต้องการภายในประเทศ คือ สามารถผลิตใบชาได้ประมาณ 2,000 ตัน ของใบชาแห้ง พื้นที่เพาะปลูกอยู่แถบบริเวณทางเหนือของรัฐควีนแลนด์ พื้นที่เป็นพื้นทู่เขาไฟ และมีปริมาณฝนตกชุกพอควร ประมาณ 150 – 200 มม. ต่อปี ภูมิอากาศเฉลี่ยประมาณ 25 องศาเซลเซีนส และมีแสงแดดประมาณ 200 วันต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นภูมิอากาศที่เหมาะสำหรับปลูกชาได้ดีพอสมควร
ภาพจากอินเตอร์เน็ต

ภาพจากอินเตอร์เน็ต




แหล่งปลูกชาของโลก - อินโดนีเซีย (Indonesia)

Art Of Tea Lovers

ศิลปะของคนรักชา
อินโดนีเซีย (Indonesia)

                ชา ได้มีการเผยแพร่ในอินโดนีเซียมากกว่า 200 ปีแล้ว โดยชาวจีนซึ่งอาศัยอยี่มณฑล ฟูเกี้ยน ได้อพยพมาทำการค้าขายที่ชวาและได้นำเมล็ดชามาด้วย เดิมทีใบชาที่เก็บได้ ก็จะนำมาจำหน่ายในหมู่คนจีนด้วยกัน เมื่อพ่อค้าชาวฮอลันดาเข้ามา จึงได้ขอซื้อที่เรียกว่า เต (Tay) ตามสำเนียงเรียกของชาวจีนที่ชวาเพื่อนำไปทดลองขายที่ประเทศของตน พร้อมกับนำชื่อเรียกสินค้าใหม่ตัวนี้ติดไปด้วย

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


                หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ธุรกิจชาของอินโดนีเซียประสบพบภัยพิบัติ และมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 1984    พื้นที่ปลูกชาส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียอยู่ที่เกาะชวา และเกาะสุมาตรา ผลผลิตสามารถเก็บไตลอดปี โดยแบ่งผลผลิตออกเป็น 2 ประเภท คือ ชาเขียว (Green Tea) ซึ่งส่วนใหญ่เก็บไว้จำหน่ายในประเทศ ส่วนชาดำ (Black Tea) จะส่งออกเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของชาฝรั่ง ปัจจุบันอินโดนีเซียผลิตชาฝรั่งได้ประมาณ 170,000 ตันต่อปี

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต



               

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

แหล่งปลูกชาของโลก - มาลาวี (Malawi)

Art Of Tea Lovers
ศิลปะของคนรักชา
มาลาวี (Malawi)

                มาลาวี เป็นประเทศที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา ป็นเมืองขึ้นขององกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 และได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1964ในรัชสมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรีย ชาวอังกฤษได้ นำชาเข้ามาทดลองปลูกที่ประเทศนี้และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก และได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่ปลูกชาโดยใช้วิธีการตอนหรือปักกิ่งชำ

                ชาส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศในแถบเมือง โทโอโล (Thoyolo) และเมืองมูลานเจ (Mulanje) เนื่องจากดินฟ้าอากาศไม่อำนวยเท่าที่ควร ชาที่ปลูกในประเทศนี้จึงไม่สามารถเก็บใบได้ทั้งปี ผลผลิตส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะเป็นผลผลิตที่เก็บในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนต


                ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี ประมาณ 30,000 – 35,000 ตัน ชาของมาลาวีแม้จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของผู้ดื่ม แต่สำหรับพ่อค้าแล้ว ถือว่าเป็นชาที่ใช้ได้ทีเดียว เพราะมีสีสวยเมื่อนำมาชง พ่อค้าจึงซื้อชาของมาลาวีเพื่อนำไปผสมกับชามีชื่อจากแหล่งอื่น ก่อนที่จะจำหน่ายให้ผู้บริโภคต่อไป แม้อังกฤษจะเป็นตลาดใหญ่ในการสั่งซื้อจากมาลาวี แต่เมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้าชาทั้งหมดของอังกฤษแล้ว องกฤษนำเข้ามาจากมาลาวีเพียงแค่ 6% เท่านั้นเอง

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

แหล่งปลูกชาของโลก - แทนซาเนีย (Tanzania)

Art Of Tea Lovers

ศิลปะของคนรักชา
แทนซาเนีย (Tanzania)

                แทนซาเนีย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ของทวีปแอฟริกาติดกับมหาสมุทรอินเดีย แทนซาเนียแม้จะเคยเป็นเมืองในอาณานิคมของเยอรมันและมีการปลูกชากันบ้างแล้วตอนเยอรมันครอบครอง แต่เป็นประเทศอังกฤษที่ได้มาครอบครองแทนซาเนียในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองต่อจากเยอรมัน เป็นผู้ส่งเสริมให้ประเทศนี้ มีการปลูกชาขึ้นอย่างจริงจัง


                ปัจจุบันแทนซาเนียสามารถปลูกชาได้ในที่ราบลุ่มเรื่อยไปจนถึงที่ราบสูง พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และบริเวณที่ราบสูงทางทิศใต้ของประเทศ ผลผลิตต่อปีประมาณ 20,000 – 25,000 ตัน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบแอฟริกาด้วยกัน  ตลาดส่งออกอยู่ที่อังกฤษ แต่เมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้าของอังกฤษแล้ว อังกฤษนำชาเข้าจากแทนซาเนียเพียงแค่ 1% เท่านั้น ผลผลิตที่ส่งออกไปอังกฤษจะถูกนำไปผสมกับใบชาที่นำเข้าจากประเทศอื่นเพราะชาของแทนซาเนียมีลักษณะคล้ายกับชาของประเทศอื่นในแถบแอฟริกา คือ มีสีสวย และกลิ่นหอมชวนรับประทาน

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

แหล่งปลูกชาของโลก - ซิมบาเว (Zimbawe)

Art Of Tea Lovers

ศิลปะของคนรักชา
ซิมบาเว (Zimbawe)

                ซิมบาเวเป็นอีกประเทศหนึ่งในแอฟริกาที่ได้รับอิทธิพลของการปลูกชามาจากชาวอังกฤษ เมื่ออังกฤษได้เข้าไปยึดครองเป็นเมืองขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1923 และได้รับเอกราชแท้จริงในปี ค.ศ. 1980

                ซิมบาเว เป็นประเทศแรกที่ได้มีการปลูกชาโดยการชลประทานเข้ามาช่วย เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกไม่เพียงพอต่อการปลูกชา คือปริมาณน้ำฝนมีเพียง 70 - 80 ซม.ต่อปีขึ้นไป

                พื้นที่ปลูกชาส่วนใหญ่อยู่ทางที่ราบสูงตะวันออก ผลิตชาได้ปีละประมาณ 18,000 – 20,000 ตัน ผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ ซึ่งเท่ากับ 3-5 % ของปริมาณการนำเข้าชาทั้งหมดของอังกฤษ

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น





แหล่งปลูกชาของโลก - ศรีลังกา (Sri Lanka)

Art Of Tea Lovers

ศิลปะของคนรักชา
ศรีลังกา ( Sri Lanka )

                ประเทศศรีลังกา เป็นเกาะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 25,332 ตารางไมล์ ศรีลังกาเดิมมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ซีลอน (CEYLON) เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1798 และได้รับเอกราชคืนในปี ค.ศ. 1948

                ศรีลังกาเดิมปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดกับต้นกาแฟในปี ค.ศ. 1869 ทำให้พืชเศรษฐกิจนี้ถูกทำลายอย่างย่อยยับ ทำให้ชาวไร่กาแฟเกือบจะล้มละลาย ก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด 4-5 ปี ชาวสก็อตต์ชื่อ เจมส์ เทเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปลูกชาทางตอนเหนือของอินเดียได้เดินทางเข้ามายังศรีลังกา และทดลองปลูกชาในบริเวณเนินเขา ลูลาคอนเดรา (Loolacondera) เขาได้ใช้บริเวณระเบียงหน้าบ้านพักของเขาเป็นที่ทดลองคัดและหมักใบชา เขาสร้างเตาด้วยดินเหนียว และนำตะแกรงลวดมาทำเป็นกระทะคั่วใบชา เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นกับต้นกาแฟ เขาสังเกตเห็นว่าต้นชาของเขาไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อราที่ทำลายต้นกาแฟ เขาจึงตัดสินใจทำลายต้นกาแฟที่เป็นโรคทิ้ง และรีบขยายพันธ์ชาเพื่อปลูกแทนที่

                ในปี ค.ศ. 1872 นายเจมส์ เทเลอร์ ตั้งโรงงานชาขึ้น และต่อมาเขาก็ผลิตใบชาออกสู่ท้องตลาด แม้ปริมาณจะไม่มากคือประมาณ 23 ปอนด์ เท่านั้น แต่ถัดมาอีก 8 ปี ปริมาณการผลิตก็เพิ่มจาก 23 ปอนด์ เป็น 82 ตัน และในปี ค.ศ. 1890 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 23,000 ตัน ปัจจุบันศรีลังกาสามารถผลิตใบชาได้ถึง 350,000 ตันต่อปี มีประชากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้มากกว่าล้านคน นาย
เจมส์ เทเลอร์ ได้รับการยกย่องจากชาวศรีลังกา ให้เป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกการปลูกชา และนำธุรกิจชาของศรีลังกาออกสู่ตลาดโลก


ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์


                ปัจจุบันธุรกิจชาของศรีลังกาอยู่ในความดูแลของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูก วิธีการปลูกไปจนถึงการผลิต ผลผลิตทั้งหมดจะต้องได้รับการตรวจสอบจากรัฐบาลและถ้าได้มาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ รัฐบาลก็จะประทับตรารับรองคุณภาพเป็นรูป “สิงโต”

เครื่องหมายคุณภาพชาซีลอน

               ชาที่มีชื่อเสียงของศรีลังกา หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันคือ ชา ที่เรียกกันว่า ชาซีลอน (Ceylon) มีแหล่งที่ปลูกทั้งบนเขาสูงและบริเวณพื้นที่ราบ ชาพันธ์ดีของศรีลังกาส่วนมากจะปลูกบนเขาสูง เช่นที่ ดิมบูลา (Dimbula) หรือที่เมือง อูวา (Uva) ชาที่ได้ชื่อว่าเป็น ชาแชมเปญของศรีลังกา (Champagne of Ceylon Tea) คือชาที่ปลูกแถบบริเวณยอดเขา นูวาราเอลียา (Nuwara Eliya) ใบชาที่จะนับว่าสุดยอดจริงๆ ของที่นี่  จะต้องเป็นชาที่เด็ดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์เท่านั้น รองลงมาคือชาที่ปลูกในบริเวณเมือง อูวา (Uva) และเด็ดใบในเดือนมิถุนายน ส่วนใบชาที่เด็ดในเดือนอื่นๆคุณภาพก็จะลดหลั่นลงมา จนถึงเป็นชาธรรมดา



ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น




แหล่งปลูกชาของโลก - เคนย่า (Kenya)

Art Of Tea Lovers

ศิลปะของคนรักชา
เคนย่า (  Kenya )

                ประเทศเคนย่า (Kenya)เป็นประเทศหนึ่งในแอฟริกาที่มีการปลูกชา โดยนำเมล็ดพันธ์มาจากอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1903 และเพียงไม่กี่สิบปี เคนย่าก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ส่งชาออกมากที่สุดในโลก และในปี ค.ศ. 1995 เคนย่าเป็นประเทศที่ส่งชาออกไปยังประเทศอังกฤษมากที่สุดในโลก ผลผลิตชา 44% ของเคนย่าส่งไปจำหน่ายที่อังกฤษ


                สาเหตุที่เคนย่าสามารถผลิตชาได้มากเช่นนี้ เพราะพื้นดินอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะแก่การปลูกชา และอากาศก็เหมาะ ทำให้ชาที่ปลูกในเคนย่า ให้ผลผลิตสูงและตลอดทั้งปี

ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์

ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์

ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น


วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

แหล่งปลูกชาของโลก - อินเดีย (India)

Art Of Tea Lovers

ศิลปะของคนรักชา
อินเดีย ( India )

                อินเดียเป็นประเทศที่มีการปลูกชามากที่สุดประเทศหนึ่งรองจากประเทศจีน แหล่งปลูกชาของอินเดียอยู่ที่ ดาจีลิ่ง อัสสัม และนิวคีรี

                ดาจีลิ่ง ( Darjeeling ) เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย อากาศเย็น อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 7,000 ฟุต เชื่อกันว่า ดร. แคมเบล เป็นคนที่นำเมล็ดชามาปลูกที่เมืองนี้เป็นคนแรกในระหว่างปี 1844 – 1847 และในปี ค.ศ. 1866 สามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 21’000 กก. อินเดียเริ่มมองเห็นช่องทางการทำธุรกิจตัวนี้  จึงเริ่มขยายพื้นนที่เพาะปลูกมากขึ้น จากไม่กี่ไร่ในตอนแรกปัจจุบันคาดว่ามีพื้นที่ปลูกใบชาเฉพาะที่ดาจีลิ่งไม่ต่ำกว่า 6,000 ไร่ และมีผลผลิตมากถึง 11,000 ตันต่อปี ทำรายได้ให้กับเมืองดาจีลิ่งมากกว่า การท่องเที่ยวเมืองเสียอีก เครื่องหมายที่แสดงคุณภาพชาของดาจีลิ่ง คือ “รูปผู้หญิงถือใบชา”

เครื่องหมายที่แสดงคุณภาพชาของดาจีลิ่ง คือ "รูปผู้หญิงถือใบชา

                รัฐอัสสัม ( Assam ) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เป็นรัฐที่มีการปลูกชามากที่สุดในอินเดีย จุดเด่นของรัฐนี้มีสัตว์ป่าสงวนคือ แรดนอเดียว ดังนั้นชาที่ได้รับรองคุณภาพว่าเป็นชาของรัฐนี้ 100% จะมีสัญลักษณ์เป็นรูป “แรด” ติดอยู่ที่กล่องหรือซอง รายได้ของรัฐมาจากชา รัฐอัสสัมนี้ยังป็นที่ตั้งของศูนย์ประมูลชา Guwahati Tea Center [GTA] ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
เครื่องหมายที่แสดงคุณภาพชาของอัสสัม คือ "แรด"


                นิลคีรี ( Nilgiri ) เป็นเมืองที่อยู่ทางใต้ของอินเดียในรัฐทามิลนาดู (Tamil Nadu) เมื่อ 800 กว่าปีก่อน คนพื้นเมืองที่นี่เล่ากันว่ามีเมฆสีน้ำเงินดำปกคลุมบริเวณเทือกเขาที่ตลอดเวลา จึงเรียกเมืองนี้ว่า “นิลคีรี” อีกตำนานของชื่อเมืองนี้ก็คือ ในอดีตทุกๆ 12 ปี ในบริเวณเทือกเขานี้จะถูกปกคลุมด้วยดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีดอกเป็นสีน้ำเงิน ดังนั้นจึงเรียกเมืองนี้ว่า “นิลคีรี” และมาในปัจจุบันก็เรียกชาที่นี่ว่า “Blue Mountains” และรูป “ภูเขา” ก็ถูกนำมาเป็นเครื่องหมายคุณภาพของชาที่ผลิตจากที่นี่
เครื่องหมายที่แสดงคุณภาพชาของนิลคีรี คือ "ภูเขา"
ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น


วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

แหล่งปลูกชาของโลก - จีน ( China )

Art Of Tea Lovers

ศิลปะของคนรักชา
ปัจจุบัน มีการปลูกชามากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

จีน ( China )

                จีนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกชาอันดับหนึ่ง แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในการบริโภคภายในประเทศ ผลผลิตของจีนจะเป็นชาเขียวกับชาอู่หลง ซึ่งไม่ค่อยนิยมของชาวตะวันตกแต่เป็นที่นิยมของชาวตะวันออก ปัจจุบันเริ่มมีชาวตะวันตกหันมาให้ความสำคัญกับการดื่มชาแบบชาวจีนกันมากขึ้น

                การปลูกชาในสมัยก่อน ไร่ชาถือป็นเป็นบริเวณต้องห้าม บุคคลภายนอกห้ามเข้าโดยเด็ดขาด จะเข้าได้เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่ามีชาวต่างชาติพยายามที่จะเข้าไปขโมย และเรียนรู้วิธีการปลูกและวิธีการผลิตอยู่เสมอ และหลายต่อหลายครั้งที่คนเหล่านั้นต้องกลับไปมือเปล่าหรือก็ได้ความรู้ไปแบบงูๆปลาๆ แม้กระทั่งปัจจุบันความรู้ในการผลิตก็ยังเป็นความลับอยู่ไม่มากก็น้อย กล่าวกันว่าไร่ชาของฮ่องเต้จะมีแต่ฮ่องเต้เท่านั้นที่จะเสด็จเข้าไปได้และกับคนที่พระองค์ทรงอนุญาตเท่านั้น การตัดชาถวาย ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดจะต้องสวมถุงมือผ้าไหมและจะต้องใช้กรรไกรทองในการตัด ห้ามใช้มือสัมผัสตลอดขั้นตอนการผลิต


ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


                เมื่อชาวยุโรปเริ่มติดต่อค้าขายกับจีนมากขึ้น สินค้าต้องห้ามนี้ก็หนีไม่พ้นการถูกลักลอบนำพันธุ์ออกไป เมื่อประเทศที่ลักลอบนำพันธุ์ออกไปได้และประสบผลในการเพาะพันธุ์ก็ถูกลักลอบขโมยต่อไปอีกทีหนึ่ง ตัวอย่างเช่น อินเดียได้ลักลอบขโมยพันธ์ชาจากจีน มาทำกาเพาะปลูกจนสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ลักลอบนำมาปลูกได้สำเร็จ และอินเดียก็ถือว่าพันธุ์ชานี้เป็นต้นไม้ต้องห้าม และกวดขันการลักลอบนำออกนอกประเทศ แต่ก็ไม่วายถูกชาวอังกฤษหรือชาเคนย่าก็ไม่ทราบลักลอบนำออกนอกประเทศโดยซุกไปกับถังน้ำมันที่หมดแล้วและบรรจุถ่านลงไปแทน ในที่สุดประเทศเคนย่าก็สามารถปลูกต้นชาได้ ปัจจุบันเคนย่ามีผลผลิตใบชาส่งออกเป็น 1 / 5 ของโลก



ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น




วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2560

การเก็บใบชา


                ในอดีต ต้นชาจะถูกให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ต้นชาแต่ละต้นจึงมีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร ขึ้นไปจนถึง 25 เมตร ทำให้การเก็บใบชาเป็นไปด้วยความลำบาก เผลอๆอาจจะตกลงมาคอหักตายก็ได้ เล่ากันว่า ชาวไร่จึงจับลิงมาฝึกให้รู้จักเด็ดยอดอ่อนของใบชา และโยนลงมาข้างล่างให้เจ้าของเก็บใส่ตะกร้าอีกที เหมือนกับคนปักษ์ใต้บ้านเราที่ฝึกลิงให้ขึ้นไปปลิดลูกมะพร้าวโยนลงมาให้ ฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่คิดดูอีกทีถ้าเราสามารถฝึกลิงให้รู้จักเลือกลูกมะพร้าวที่แก่และปลิดลงมาให้เจ้าของได้ ผู้เขียนคิดว่า ฝึกน่ะฝึกได้ แต่ผลที่ได้จากการให้ลิงขึ้นไปเด็ดยอดอ่อนโยนลงมา จะได้ผลแค่ไหน คงเป็นคำถามที่น่าคิด อาจจะเป็นไปได้ว่า เด็ดใบลงมาให้หมดและให้เจ้าของไปเลือกเอาเองว่ายอดไหนใช้ได้ ยอดไหนใช้ไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งในประวัติใบชาของจีน

                ปัจจุบัน ต้นชาได้รับการตกแต่งให้กลายเป็นไม้พุ่มที่มีความสูงไม่เกิน 1.50 เมตร จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องปีนขึ้นไปเก็บ ชาวไร่สามารถเดินเก็บได้อย่างสบาย ดังนั้นแรงคนจึงนำมาทดแทนแรงลิง ปัจจุบันไร่ชาเกือบทุกแห่งจะใช้แรงงานคนในการเก็บใบชา มีเจ้าของไร่ชาบางแห่งได้พยายามใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บยอดชา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แรงงานคนจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไร่ชา

                การเก็บใบชาที่ถูกต้อง คนงานที่เด็ดใบชาจะมีตะกร้าสำหรับใส่ใบชาที่เด็ดแล้วสะพายหลังคล้ายเป้ การเด็ดต้องอาศัยความรวดเร็วและต้องอาศัยความชำนาญในการเด็ด คนงานจะเด็ดใบชาด้วยมือทั้ง 2 ข้างควบคู่กันไป และโยนใบชาที่เด็ดได้ข้ามศรีษะให้ตกลงไปในตะกร้า การเด็ดใบชา จะเด็ดตอนเช้าตรู่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เมื่อเด็ดแล้วชาวไร่ก็จะทิ้งช่วง เพื่อให้ต้นชาแทงยอดอ่อนออกมาใหม่ จึงเวียนมาเด็ดอีกครั้งหนึ่ง การเด็ดใบชาจากต้นชาวไร่จะเด็ดเฉพาะยอดอ่อนที่มียอดหรือใบตูม และมีใบที่ต่ำจากยอดตูมลงมา 2 ใบเท่านั้น คนงานที่ชำนาญจะสามารถเด็ดใบชาได้ 25 – 30 กก. ต่อวัน ค่าแรงในการเด็ดจะคิดจากปริมาณใบชาที่เด็ดได้และคุณภาพของใบชาที่เด็ดมา ต้นชาต้นหนึ่งสามารถผลิตยอดอ่อนออกมาได้ปีละประมาณ 70 กก.


                ใบชาสด 1 กก. ที่เด็ดมาได้ เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆเรียบร้อยแล้วจะหนักและเหลือเพียง 200 – 250 กรัม เท่านั้น


ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น


ขอบคุณเจ้าของภาพ

การปลูกชา



                ในอดีต การปลูกชาจะต้องใช้เมล็ดในการเพาะต้นอ่อน ดังนั้นเจ้าของไร่จะปลูกต้นชาและปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่มีการแต่งกิ่ง เมื่อต้นชาโตได้เต็มที่ ก็จะผลิตดอกและเมล็ดชา เจ้าของไร่ก็อาศัยเมล็ดชาจากต้นชานำไปเพาะเป็นต้นอ่อน และนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ ต้นชาที่ปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติบางต้นอาจจะมีความสูง 15 – 20 เมตร ก็ได้ ต้นชาที่เพาะจากเมล็ดเพื่อเก็บใบ จะได้รับการตกต่งให้เป็นพุ่ม มีลักษณะคล้ายพัดที่คลี่ออก หรือลักษณะคล้าย รูปครึ่งวงกลม มีความสูงไม่เกิน  1.5 เมตร เพื่อสะดวกในการเก็บยอดใบชา


                ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ชาวไร่สามารถขยายพันธุ์ชาได้ด้วยการตอนหรือตัดกิ่งชำ โดยจะคัดจากต้นชาที่แข็งแรงมีกิ่งก้านมาก และไม่มีโรค เมื่อต้นอ่อนของชาโตได้ขนาดและมีลำต้นสมบูรณ์ ก็จะถูกย้ายไปปลูกในไร่ที่เตรียมไว้ ต้นชาที่นำไปปลูกใหม่นี้ เมื่อสูงประมาณครึ่งเมตร ชาวไร่ก็จะตัดต้นทิ้งโดยเหลือโคนต้นไว้ประมาณ 6 – 10 นิ้ว ต้นชาที่ถูกตัดนี้ก็จะแตกกิ่งใหม่ขึ้นมา ชาวไร่ก็จะแต่งกิ่งให้เป็นพุ่มตามขนาดและความสูงที่ต้องการ ระยะห่างของการปลูกขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยทั่วไปต้นชาแต่ละต้นจะปลูกห่างกันประมาณ 1 – 1.5 เมตร เพื่อสะดวกต่อการดูแลเอาใจใส่ และเก็บใบอ่อน ต้นชาแต่ละต้นจะสามารถผลิตยอดอ่อนให้เก็บได้หลังจากปลูกได้ประมาณ 3 – 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และอากาศ เมื่อต้นชาถูกเด็ดยอดอ่อนแล้ว ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 15 – 30 วัน เพื่อจะสร้างยอดใหม่ขึ้นมา เพื่อเก็บครั้งต่อไป แต่ถ้าต้นชาพันธ์ดีมีคุณภาพและปลูกในที่สูง ซึ่งอุณหภูมิของอากาศเย็นกว่าบนพื้นราบ ระยะเวลาที่ต้นชาใช้ไนการสร้างใบอ่อนให้สมบูรณ์ก็กินเวลามากกว่า การเด็ดใบชาก็จะไม่ถี่เหมือนชาพันธุ์ธรรมดา ชาดีมีคุณภาพราคาแพงจะเด็ดกันแค่ปีละ 4 – 5 ครั้งเท่านั้นตามฤดูกาล


ที่มา : หนังสือ "ชา..Cha เลือกชาดื่ม ซื้อชาเป็น