วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประเภทชาแบ่งตามกระบวนการผลิต

Art Of Tea Lovers
ศิลปะของคนรักชา
photo : medthai.com


                ใบชาที่เก็บจากพุ่มเดียวกัน ขึ้นอยู่กับคนเก็บว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้มันมีความแตกต่างกัน
จากขบวนการผลิตขั้นสุดท้ายสามารถแบ่งชาได้เป็น 6 ชนิดด้วยกัน
1.       ชาขาว (White tea)
2.       ชาเขียว (Green tea)
3.       ชาอูหลง (Oolong tea)
4.       ชาดำ (Black tea)
5.       ชาผสม (Scented tea)
6.       ชาก้อน (Compressed tea)

บางตำราของจีน แบ่งประเภทของชาได้เป็น 6 ชนิดเช่นกัน คือชาขาว, ชาเหลือง, ชาขียวอ่อน, ชาเขียว, ชาแดง และชาดำ ส่วนในซีกตะวันตกนั้นเนื่องจากชาเขียวและชาเขียวอ่อนแทบจะไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นทั้งสองชาจึงถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน คือชาเขียว

White Tea :  ชาขาว
                เป็นชาที่เก็บจากยอดใบ โดยจะมีการเก็บเป็นพิเศษในช่วง 2 – 3 วันแรกของการเริ่มต้นฤดูเก็บชา ใบชาจะไม่มีการหมัก แต่จะทำแบบธรรมชาติ โดยการใช้ไอน้ำแทน ใบชาจะซีดกว่าชาชนิดอื่นๆ และในการชงจะได้สีที่จางกว่า และให้สารคาเฟอีนต่ำกว่าด้วย ชาขาวถือว่าดีและมีชื่อเสียง ได้แก่ Shou Mei Pai Heo Yin Chin และ Pai Mu Tan
                ความหอมของชาขาวนั้นกลิ่นจะอ่อนกว่าชาชนิดอื่น และเมื่อแรกที่คุณได้สัมผัสรสธรรมชาติอาจจะเหมือนกับการดื่มน้ำร้อนเปล่าๆ ซึ่งรสชาติธรรมดามาก แต่ว่าเพียงชั่วอึดใจหนึ่งคุณก็จะได้สัมผัสกับรสชาติที่นุ่ม หอมหวานในขณะที่คุณกลืนลงไปในลำคอ และกลิ่นอ่อนๆ ของชาขาวก็ยังคงรวยรินอยู่ที่ลิ้น ลำคอ และในปากของคุณ ข้อแนะนำการดื่มชาขาวนั้นไม่ควรใส่นม


www.preyashop.com

Yellow Tea : ชาเหลือง
                ถูกทำให้เป็นสีเหลืองตามกระบวนการทำชา คือการกวน (Stir – Prying) หรือตามขั้นตอน Killing Green เนื่องจากว่าโทนสีของน้ำชามีผลต่อความรู้สึกอยากดื่มด้วย ชาเหล่านี้ได้แก่ Mao Chien, Huang Ta Cha, Chun Shan Yin Chin จัดอยู่ในประเภทชาเหลือง และชา Chun Shan Yin Chin ถือเป็นชาเหลืองที่ดีที่สุดและมีค่ามากที่สุดในบรรดาชาเหลืองทั้งหมด ว่ากันว่าในสมัยราชวงศ์ถังนั้นนิยมดื่มกันมาก
                ลักษณะของกลิ่นชาเหลืองก็คือ กลิ่นและรสชาติของชาจะไม่เปลี่ยนไปจากที่คุณดื่มตอนชงเสร็จใหม่ๆ แม้ว่าจะถูกวางทิ้งไว้ให้เย็นก็ตาม รสชาติอันขมๆ หวานๆ และกลิ่นเปรี้ยวยังคงตราตรึงที่ลิ้นของคุณ กลิ่นออกเปรี้ยวๆนี้ไม่ใช่กลิ่นเปรี้ยวของส้ม หรือผลไม้รสส้มอื่นๆ แต่เป็นกลิ่นเปรี้ยวของสมุนไพร

Light Green Tea :  ชาเขียวอ่อน
                กลิ่นของชาเขียวอ่อนนั้นจะเหมือนกลิ่นของเมล็ดข้าวสาลี ชาเขียวอ่อนที่มีชื่อเสียงมาก คือ ชาทิกวนอิม (Tich Kuan – Yin) และชาต้าหงเผา (Ta Hung Pao)

Green Tea :  ชาเขียว
                วิธีทำชาเขียวง่ายๆ ด้วยตัวของคุณเอง ขั้นตอนแรกเก็บใบชาเล็กๆ ที่อ่อนที่สุด ใส่ลงไปในตะกร้าสานพื้นเรียบใบใหญ่ๆ ตั้งพักไว้ให้แห้งประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ต่อจากนั้นคุณก็เลือกใบที่เสียออกทิ้ง แล้วนำใบชาที่ได้ใส่ลงในกระทะใบใหญ่ ใช้ไฟอ่อนๆ คั่วกลับไปกลับมาให้ใบชาแห้งสม่ำเสมอกัน หรือคุณจะใช้เตาอบเพื่ออบใบชาให้แห้งก็ได้เช่นกัน
                หลังจากที่ทำการอบหรือปรุงใบชาในกระทะแล้ว คุณก็ทำให้เป็นก้อนกลมขนาดใหญ่ โดยเอาใบออกนวดและตีหลายๆ ครั้ง เมื่อใบชาเริ่มอ่อนนุ่มและมีกลิ่นหอม แสดงว่าใกล้จะได้ที่แล้ว นำใบชาไปให้ความร้อนอีกครั้งหรือเอาเข้าเตาอบ จากนั้นก็เก็บบรรจุในภาชนะที่มิดชิดแห้งสะอาด ก็เป็นอันเรียบร้อย
                ชาเขียวเป็นชาที่มีสีค่อนข้างเขียว และมีสีเหลืองเล็กน้อย ซึ่งอัตราส่วนของสีเหลืองนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของชาเขียวที่คุณกำลังดื่ม กล่าวกันว่ากลิ่นของชาเขียวนั้นเหมือนกับกลิ่นหมอกในตอนเช้า หรือกลิ่นหญ้าชื้นๆ เมื่อฝนหยุดตกใหม่ๆ กลิ่นของชาเขียวจะติดอยู่ในปากและลำคอนาน
                ชาเขียวที่มีชื่อ คือ ชาหลงจิ่ง (Lung Ching), ชาโปลี (Polee) ซึ่งเป็นชาที่นิยมดื่มกันของชาวแคนตัน มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง มีประโยชน์ในการขับเสมหะ และช่วยในการย่อยอาหารอีกด้วย
                ชาเขียวนั้นชงดื่มโดยไม่ต้องใส่นม และชาเขียวนั้นเราแยกชนิดย่อยตามอายุของใบชา และการผลิตได้ดังนี้
1.       ชาดินปืน หรือชาลูกกระสุน (Gun – power Tea) เป็นชาที่ถูกปั้นคล้ายลูกปืนเล็กๆ จากชาอ่อนและชาปานกลาง
2.       ชาจักรพรรดิ (Imperial Tea) เป็นชารุ่นเก่าของชาดินปืน มีใบชาใหญ่กว่า และมีความหนาแน่นน้อยกว่า
3.       ชาไฮซัน (Hyson Tea) หมายถึงฤดูใบไม้ผลิ หรือผลิตผลแรกของใบชา


www.preyashop.com

Red Tea :  ชาแดง
                ชาแดงนั้นน้ำชาจะมีโทนสีน้ำตาลแก่ หรือสีแดงเข้ม มีกลิ่นรุ่นแรงและมีรสหวาน ความเข้มข้นของกลิ่นจะเป็นลักษณะเด่นของชาแดง คือกลิ่นของชาจะไม่จางหายไปเมื่อคุณเติมส่วนผสมอื่นๆลงไปในน้ำชา ด้วยคุณสมบัตินี้จึงทำให้หลายคนนิยมใส่ส่วนผสมพิเศษลงไป เช่น พวกดอกไม้ กลีบกุหลาบ, ดอกลิ้นจี่, นม หรือน้ำตาล ชาวตะวันตกชอบดื่มชาแดง
                ชาแดง Ch’I Men มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ราชวงศ์ชิงแล้ว

Black Tea :  ชาดำ
                การทำชาดำมีความยุ่งยากและใช้เวลานานกว่าชาเขียว ใบชาที่ใช้ก็ต้องตากไว้จนกระทั่งมันเริ่มดำขึ้น จากนั้นคุณก็ตีมันหลายๆครั้งแล้วบด ก็จะทำให้มันแห้ง ตากไว้ให้ถูกแสงเพื่อให้ได้ออกซิเจนเต็มที่ และทำซ้ำหลายๆ ครั้งอาจะต้องใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นใบชาที่เก็บมาจากพุ่มเดียวกัน จะเป็นชาเขียวหรือชาดำก็ขึ้นอยู่กับวิธีการแล้วล่ะ
                ชาดำนั้นกลิ่นของมันออกรสขมๆ ของกลิ่นสมุนไพร ซึ่งมีกลิ่นเหมือนกลิ่นโลหะที่โดนความร้อน
                ตอนแรกที่คุณดื่มชาดำเข้าไป คุณจะรู้สึกว่ามันขมเหมือนกับคุณดื่มยาเข้าไป แต่ต่อมาเมื่อคุณดื่มมันอีกครั้ง รสชาติที่ได้ก็จะเปลี่ยนเป็นหวานๆ ขมๆ ตลอด ดังนั้นลักษณะเด่นของชาดำคือการเปลี่ยนแปลงรสชาติในปากบ่อยครั้ง และมีรสขมๆ หวานๆ ที่ติดทนนาน
                สี่ขั้นตอนการผลิตชาดำ
1.       ขั้นตอนทำให้แห้งหมาด ใบชาที่เก็บมาจะถูกตากให้แห้งพอหมาด เพื่อขจัดเอาความชื้นออก ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 1 วัน หากทำในที่โล่ง แต่หากอบในเตาอบไฟฟ้าใช้เวลาไม่เกิน 2 – 3 ชั่วโมง
2.       ขั้นตอนนวดคลึง ในสมัยก่อน ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาและแรงมากที่สุด เพราะใช้มือในการทำ แต่ปัจจุบันใช้เครื่องจักรกินเวลา 1 – 2 ชั่วโมง
3.       ขั้นตอนการหมักพื่อให้เกิดปฎิกิริยาออกซิเดชั่น เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ใบชาที่ถูกนวดคลึงจนเหนียวนั้น จะถูกนำไปไว้ในที่เย็นและชื้นประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง เพื่อให้ชาทำปฎิกิริยาจนมีสีน้ำตาลแดง และเกิดรสชาติ
4.       ขั้นตอนอบแห้ง เมื่อขั้นตอนการหมักจบลง ใบชาที่ได้จะนำไปอบในห้องควบคุมอุณหภูมิ จนมีสีดำ และตอนนี้ชีความชื้นเหลือเพียง 5%

Compressed Tea : ชาก้อน
                ชาชนิดนี้จะมีขายในรูปแบบแท่งหรือแบบก้อนอิฐ ใบชานั้นจะอบไอน้ำแล้วนำไปบีบอัดให้เข้ากันเป็นก้อนแข็ง จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ปัจจุบันชาก้อนทำมาจาก Dust teas ซึ่งถูกอัดด้วยเครื่องจักรที่ใช้น้ำในการขับเคลื่อนภายใต้แรงดัน หรือที่เรียกกันว่า Hydraulical Machinery เพื่อที่จะให้รูปแบบของชานั้นออกมาให้เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะต่อหนึ่งถ้วยชา การชงชาชนิดนี้ชงแบบปกติ โดยใส่ก้อนชาลงไปในถ้วยเติมน้ำร้อน ใบชาจะค่อยๆ คลายตัวออกมา

Oolong Tea : ชาอูหลง
                ชาวจีนเรียกว่า “มังกรดำ” (Black dragon) ชาอูหลงเป็นชากึ่งหมักและใบชาต้องผ่านกระบวนการทำชาทันทีหลังจากการเก็บใบชา ให้สารคาเฟอีนต่ำ ชาจะมีความนุ่มกว่าชาดำ แต่มีรสชาติที่สดน้อยกว่าชาเขียว ชานี้แบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ Chaina Oolong และ Formose Oolong ซึ่งจะมีรสชาติที่ต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการหมัก

Scented Tea : ชาผสม

                ชาอูหลง, ชาเขียว ชาดำจะถูกผสมเข้ากับดอกไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งมีกลิ่นหอมต่างๆ กัน ผสมขึ้นมาเป็นชาผสม


www.preyashop.com


ที่มา : หนังสือ “รินใจใส่ชา” คู่มือคนรักชา

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วัฒนธรรมการดื่มชา

Art Of Tea Lovers
ศิลปะของคนรักชา
Photo : thai.cri.cn


                ในบางที่บางแห่งการดื่มชาอาจจะคล้ายกับบ้านเรา แต่สำหรับบางที่ก็ทำให้รู้สึกแปลกใจและบางที่ก็เย้ายวนน่าปรารถนาได้ลองจิบดูบ้าง

จีน
                ในจีนนั้นมีวิธีการเตรียมชา การเสิร์ฟชาและการดื่มหลากหลายวิธีการตามวัฒนธรรมของแต่ละมณฑล เช่นคนจีนทางตอนใต้ของซินเจียง (Xinjiang) จะดื่มน้ำชาธรรมดา ขณะที่คนจีนทางตอนเหนือเช่นชาวมองโกเลียนิยมเติมนมและเกลือ ส่วนทางตอนใต้จะเติมพริกไทย
                หลายคนดื่มชาโดยใช้ช้อนตัก และซดเสียงดังๆ ซึ่งถือว่าได้ซาบซึ้งกับรสชาติอย่างเต็มที่ แต่ในปัจุบันการดื่มชาอยางนั้นถือว่าไม่สุภาพ คนจีนถือว่าน้ำชาเป็นเครื่องดื่มที่มีความสำคัญในพิธีต่างๆ

photo : pantip.com/topic/32902182


ญี่ปุ่น
                พิธีชงชาของญี่ปุ่น เรียกว่า ชะโนยุ (Chanoyu) ชาเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในญี่ปุ่นโดย ภิกษุนิกายเซนชื่อ ท่านเอไซ จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นั่งเข้าฌานได้นานๆ ด้วยเหตุนี้พระจึงนิยมดื่มกันก่อนชาวบ้านทั่วไป ชาเขียวที่นิยมดื่มได้แก่ เซนชะ (Sencha), โฮจิชะ (Houjicha), บันชะ (ancha) และชาที่ถือว่าเป็นชาชั้นเยี่ยม คือ เกียวกุโระ (Gyokuro) และท่านเอไซก็เป็นผู้ริเริ่มพิธีชงชา ที่เรียกว่า วะบิชะ (Wabicha)
                ชะโด (Chado) แปลว่าวิถีแห่งชา คือพิธีการชงชาที่มีพื้นฐานมาจากความเคารพ และชื่นชมความงามของสรรพสิ่งในวิถีชีวิต
                ส่วนท่านเซนโนะ ริคิว (Sen no Rikyu) เป็นผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงในการชงชา ลูกหลานของท่านได้ตั้งสำนักเซนเคะ (Senke) ซึ่งทำให้พิธีชงชาสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก
                ขั้นตอนพิธีชงชาของญี่ปุ่น
                การชงชาเริ่มจากเจ้าภาพตักชาเขียวป่น (Matcha) ลงในถ้วยชา (Cawan) จากนั้นตักน้ำร้อนจากหม้อต้มใส่ลงไป แล้วใช้ไม้สำหรับคนชา (Chasen) คนจนชาเป็นฟอง แล้วยกถ้วยชาส่งให้บรรดาแขก เมื่อแขกคนแรกรับถ้วยชามาก็หันไปกล่าวขอโทษแขกคนถัดไปที่ตนเป็นผู้ดื่มชาก่อน แล้วหันไปคำนับเจ้าภาพเป็นการขอบคุณ จากนั้นจึงยกชาขึ้นดื่ม
                ขนมที่ใช้ทานคู่กันในการดื่มชา เป็นขนมหวาน เรียกว่า วากาชิ (Wagashi) ได้แก่
                ขนมโยกัน (Yokun) เป็นเจลลี่ถั่วแดงหวาน
                ขนมมันจู (Manju) คือซาลาเปาบ้านเรานั่นเอง
                ขนมซากุระโมชิ (Sakuramoshi) เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ไส้ถั่วแดงห่อด้วยใบซากุระหมักเกลือ แสดงถึงฤดูใบไม้ผลิ
                ขนมทสึกิมิดังโกะ (Tsukimidan-go) เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ใช้ในพิธีชมจันทร์
                ขอแนะนำชาญี่ปุ่นที่ดื่มในโอกาสต่างๆ
                ชา Shincha จะมีในเดือนพฤษภาคม เป็นชาแรกที่เก็บได้ของฤดู
                ชา  Mugicha หรือชาข้าวบาร์เลย์ นิยมดื่มในฤดูร้อน
                ชา Sakurayu ดื่มในโอกาสงานมงคล เป็นชาที่ได้จากการชงน้ำร้อนกับกลีบกุหลาบแทนชาเขียว แล้วปรุงรสด้วยเกลือ

photo :sites.google.com/site/chonthicha47035/wathnthrrm-kar-dum-cha-khxng-yipun


โมรอคโค
                การชงชาในโมรอคโคก็มีพิธีมากเช่นกัน ชามิ้นต์ (Mint Tea) เป็นชายอดนิยมจะมีอยู่ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และมีขายตามร้านทั่วไป
                ขั้นตอนการชงชามิ้นต์ เริ่มด้วยการใส่ชาเขียวเพียง 2 – 3 ช้อนชาลงในกา เทน้ำใส่แล้วรีบเทออกเพื่อล้างฝุ่น เทน้ำเดือดเพิ่มอีก แล้วปล่อยทิ้งไว้ 1 นาที ใส่ใบมิ้นต์ลงในกาแล้วปล่อยไว้อีก  1 นาที เติมน้ำตาล
                ในการเสิร์ฟชา ชาวโมรอคโคจะรินชาลงแก้วโดยการยกกาให้สูงๆ เพื่อทำให้เกิดฟองบนพื้นผิวน้ำชา

รัสเซียและมองโกเลีย
                คนรัสเซียชอบดื่มชาเขียวและชาดำโดยไม่ใส่นม บางคนอาจจะใส่น้ำตาลลงในปากก่อนที่จะดื่มชาเข้าไป หรือบางทีอาจจะใส่แยม, น้ำผึ้ง หรือพริกเข้าไปก่อน ตามแต่จะชอบ
                ส่วนชาวมองโกเลีย พวกเขาอาจดื่มชาพร้อมกับนมและเกลือ ประมาณปี ค.ศ. 1638 ชาวมองโกเลียได้ขยายตัวเข้าไปอยู่ในรัสเซียดังนั้นประเพณีนิยมการดื่มชาจงข้าไปแพร่หลายในรัสเซียด้วย แต่เมื่อรัสเซียสามารถปลูกชาได้เองในปี ค.ศ. 1900 ก็หยุดการนำเข้าชาจากจีน

อียิปต์
                กฎหมายอิสลามได้อนุญาตให้มีการดื่มชาดำได้ ในอียิปต์ ปากีสถาน และซาอุดิอาราเบียนั้น ชาดำจากอินเดียชาซีลอนของศรีลังกาได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง ชาจะถูกชงแก่ๆ รสจัดและหวานมาก แต่ไม่ใส่นม

ทิเบต
                ในทิเบตชาจะถูกเติมเกลือ และปรุงรสให้เค็ม เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย ชาเขียวที่ชงได้จะถูกกรอง และนำไปผสมกับเกลือ นมแพะหรือเนยวัว ดื่มพร้อมกับขนมพื้นเมือง ซึ่งทำจากข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ รู้จักกันในชื่อ tsamba

อินเดีย
                การดื่มชาของอินเดีย มีความนิยมแบบเผ็ดๆ ซ่าๆ โดยผสมชาดำกับนม ใส่เครื่องเทศจำพวกกานพลู, กระวาน และอบเชย เติมน้ำตาล มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องถนนในอินเดีย รินใส่ในถ้วยดินเผาแบบดิบๆ ให้ความรูสึกดีไปอีกแบบ

มาลเซีย
                วัฒนธรรมการดื่มของมาเลเซียจะคล้ายกับจีน แม้ปัจจุบันจะมีอิทธิพลของตะวันตกเข้ามา โดยนิยมเติมนม น้ำตาล หรือมะนาวลงไป
                ลักษณะของมาเลเซียที่เด่นคือ กาน้ำชาของเขาจะมีฝาเปิดที่เล็กมาก เมื่อเวลารินชาลงไปในถ้วย เขาจะยกกาน้ำชาขึ้นสูงๆ พวกเขาเรียกการทำเช่นนี้ว่า การขึงชา (Stretching the tea) ซึ่งจะทำให้น้ำชาเกิดเป็นฟองเล็กๆ ในถ้วย เชื่อกันว่าเป็นการทำให้เกิดออกซิเจนเพิ่มขึ้นในน้ำชาและช่วยให้รสชาติของน้ำชาดีขึ้นนุ่มขึ้น

photo : hiclasssociety.com


ที่มา : หนังสือ “รินใจใส่ชา” คู่มือคนรักชา